หลายคนอาจมีคำถามว่า การมี Fan Page แล้วแบรนด์จะได้อะไร ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า Fan Page เป็นเครื่องมือสร้างให้แบรนด์ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า จนสร้างผลประโยชน์ทางการตลาดได้อย่างน่าอัศจรรย์
1.คอลเซ็นเตอร์
ลูกค้ารู้สึกสะดวกใจ และสะดวกสบายที่จะถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับแบรนด์ผ่านทางเฟซบุ๊ก มากกว่าการโทรเข้าไปสอบถามยังคอลเซ็นเตอร์ หรือการเดินเข้าไปถามหน้าร้าน ช่องทางรับฟังความเห็น ซึ่ง Fan Pageเหมือนเอาลูกค้ามาอยู่ในที่เดียวกัน เมื่อแบรนด์ถามอะไรลงไป ก็มีการตอบกลับมา
2.ใช้เป็นช่องทางในการเยียวยาแก้ไขปัญหา
หรือ Customer Service เพราะแทนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่เผชิญปัญหากับสินค้าและบริการของเราไปป่าวประกาศในเว็บบอร์ดอื่นๆ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ก็ดึงเขามาที่ Fan Page ก็จะสามารถแก้ปัญหาให้กับเขาได้ทันที ยกเว้นปัญหาที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การคืนสินค้า การร้องเรียนเรื่องการใช้งาน ส่งต่อให้แผนกที่เกี่ยวข้องจัดการโดยเร่งด่วนเช่นเดียวกัน
3.รวมกลุ่มแฟน
คนที่รักแบรนด์เดียวกัน การสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ในหมู่ลูกค้าด้วยกันเอง จากเมื่อก่อนที่จะทำให้ลูกค้ามีความสัมพันธ์กัน แบรนด์ต้องจัดอีเวนต์ เช่นการเวิร์คช็อป ซึ่งการสร้างให้ลูกค้าสัมพันธ์กันจะทำให้ลูกค้าหนีจากแบรนด์นั้นได้ยาก เช่น กรณีรถยนต์ระดับไฮเอนด์ หากลูกค้าคนหนึ่งไปป็นสมาชิก Fan Pageแห่งหนึ่ง และมีสังคมและเพื่อนอยู่ตรงนั้น ต่อไปหากต้องการซื้อรถใหม่ หรือเปลี่ยนรถ ถ้าเขาเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์ใหม่ ก็เท่ากับว่าเขาต้องเปลี่ยนสังคมไปด้วย นอกจากรถยนต์แล้วปรากฏการณ์ที่เห็นยังมีพวกสินค้าไอที เป็นต้น
ตัวอย่างของ ”ศิลปิน” ก็เห็นชัดเช่นกัน เมื่อมีแฟนคลับที่เหนียวแน่น สมาชิกแฟนคลับก็ยากที่จะเลิกชอบศิลปินคนนั้น เพราะมีความสัมพันธ์กันในกลุ่มเพื่อนๆ แฟนคลับ ไปทำกิจกรรมร่วมกัน
ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสินค้าที่เป็น High Involvement เช่น รถยนต์ คอนโดมิเนียม เป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางจิตใจสูง สินค้าที่สำคัญกับชีวิตของแต่ละคน มักจะใช้ไม่ได้กับสินค้าบริโภคทั่วๆ ไป ที่สามารถใช้แบรนด์อื่นๆ ทดแทนได้
4.การที่แบรนด์จะได้ข้อมูลโพรไลฟ์
รู้ว่าลูกค้าเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีพฤติกรรมอย่างไร เป็นลูกค้า Insight แบบเรียลไทม์ เป็นหัวใจสำคัญที่ประโยชน์ต่อการทำตลาด โดยไม่ต้องรอผลสำรวจพฤติกรรมลูกค้าจากสำนักวิจัยอื่น สามารถช่วยให้แบรนด์รักษาฐานลูกค้า คิดกิจกรรม หรือทำโปรโมชั่นได้ตรงกับความต้องการ
5.ทำให้คนอยากซื้ออยากได้
ใช้เพื่อเกิดการซื้อซ้ำ เทียบเท่าเช่นกรณีของ Club 21 ที่ยอดขายบางส่วนเกิดขึ้นหลังจากโพสต์ภาพสินค้าลงไปในหน้า Fan Page ซึ่งการโฆษณาทางนี้เห็นผลรวดเร็วกว่าทางพรินต์แอด หรือไดเร็กเมลอย่างมาก
6.เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้การทำ CRM ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะความรวดเร็วและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกคนที่เข้าร่วม Fan Pageได้ในการโพสต์เพียงครั้งเดียว ตัวอย่างเช่น แสนสิริ ที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการนำเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับลูกบ้าน หรือ พฤกษา เรียลเอสเตทใช้ทำกิจกรรมจัดแรลลี่ให้กับลูกบ้าน
7.ขณะที่บางแบรนด์เลือกโฆษณาแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางนี้
ในทางกลับกัน สเมอร์นอฟใช้เป็นช่องทาง Fan Pageในการรวบรวมไอเดียจากกลุ่มแฟนในการสร้างสรรค์แคมเปญที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาได้อย่างแท้จริง
8.ใช้อัพเดตความเคลื่อนไหว
เป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ แจ้งข่าวสาร ส่วนใหญ่จะใช้ในนามขององค์กร